Meeting Party ทุกศุกร์แรกของเดือน ณ iOffice หน้ากองบิน 41 เชียงใหม่

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

7 วิธี"เอื้อเฟื้อ"เพื่อนบ้านอย่างง่าย พลิกให้ชุมชนน่าอยู่







 แม้ประเทศไทยจะยังไม่ผ่านช่วงที่สถานการณ์ทาง เศรษฐกิจและการเมืองตึงเครียด แต่เราก็ยังสามารถสร้างสุขรอบตัวให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกทำชุมชนรอบบ้านให้น่าอยู่ ถนนหนทางสะอาดสะอ้าน ต้นไม้ตัดแต่งเป็นระเบียบ มีถังขยะเรียบร้อย คนในชุมชนรู้จักกันดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันดี มีน้ำใจ มองไปทางไหนก็มีแต่ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เข้าใจกัน และคอยช่วยเหลือกัน ซึ่งการ "เอื้อเฟื้อแบ่งปัน" นั้นเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ดังนี้
       
       1. ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง โดยอาจออกมาเดินเล่นยามเย็นกับลูก ๆ และใช้ช่วงเวลาดังกล่าว ทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับเพื่อนบ้าน และถ้าต้องการเพิ่มความคุ้นเคยกันให้มากขึ้น อาจจัดงานเลี้ยงเล็ก ๆ ขึ้นในวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำอาหารมาทานร่วมกัน พาครอบครัวมาทำความรู้จักกัน ให้ลูก ๆ มาเล่นด้วยกัน หลังงานเลี้ยงเลิกอาจขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของแต่ละครอบครัวเอาไว้ เผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถติดต่อกับเพื่อนบ้านเหล่านั้นได้ทันท่วงที เหล่านี้เป็นต้น
       
       2. ทำความสะอาดพื้นที่รอบบ้านให้โล่งเตียน มองไปทางไหนก็สบายหูสบายตา ต้นไม้รก ๆ ก็ตัดให้เรียบร้อย เก้าอี้สนามก็เช็ดให้สะอาด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้โจรผู้ร้ายอาศัยสุมทุมพุ่มไม้เหล่านั้นเป็นที่ ซ่อนกำบังตัว หากมีพื้นที่ส่วนกลางเช่น ทางเดินเท้า หรือถนน ที่มีเศษใบไม้ใบหญ้าก็อาจชวนเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงมาทำความสะอาดร่วม กัน หรือจัดอาสาสมัครแบ่งเวรกันทำก็ได้
       
       3. เปิดไฟสว่างบริเวณหน้าบ้านในยามค่ำคืน เพราะโจรหรือนักย่องเบามักจะไม่ชอบแสงสว่างมากนัก การเปิดไฟเอาไว้ นอกจากจะช่วยให้โจรคิดหนักไม่อยากย่างกรายเข้ามาในบริเวณบ้านแล้ว ยังเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงที่อาจต้องเดินทางกลับ บ้านดึก ๆ ดื่น ๆ ให้ปลอดภัยมากขึ้นด้วย แต่ก่อนจะปิดบ้านนอน คุณเองก็ต้องไม่ลืมที่จะล็อกกลอน ประตูให้แน่นหนาด้วยเช่นกันนะคะ
       
       4. เอื้อเฟื้อเพื่อนบ้านด้วยการ "กลับบ้านด้วยกัน" หากมีเหตุต้องกลับบ้านยามค่ำคืน เช่น อาจจะงานเลิกดึก หรือไปทานอาหารนอกบ้านกับครอบครัวมา ไม่ผิดหากเจอเพื่อนบ้านในละแวกบ้านที่คุณสนิทคุ้นเคยกำลังเดินกลับคนเดียว แล้วคุณจะชวนเขาให้นั่งรถเข้าบ้านพร้อมกับครอบครัวของคุณ
       
       5. ทำความรู้จักกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดูแลเขตพื้นที่ของคุณ การทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาตรวจตราความเป็นไปในย่านที่คุณพัก อาศัย ตลอดจนช่วยสังเกตคนแปลกหน้าที่บังเอิญหลงหูหลงตาเข้ามาอยู่ในชุมชนเป็นอีก หนึ่งความช่วยเหลือที่คุณสามารถทำได้ เพื่อให้สังคมรอบข้างที่คุณอาศัยอยู่นั้นปลอดภัยยิ่งขึ้น
       
       6. ร่วมมือกับเพื่อนบ้าน และทางการในการแบ่งปันความคิดเห็นต่าง ๆ ตลอดจนข้อเสนอแนะดี ๆ เพื่อให้สังคมโดยรอบปลอดภัยและสงบสุขมากขึ้น เช่น อาจจัดให้มีอาสาสมัครพ่อแม่คอยดูแลตรวจตราความปลอดภัยของชุมชน ดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้ไปมั่วสุมสิ่งเสพติด หรืออาจจัดสถานที่กลางเอาไว้สอนเด็ก ๆ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขาสนใจ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี วาดรูประบายสี
       
       7. รักษามารยาทในการอยู่ร่วมกันในสังคม แม้จะมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันแล้ว แต่ก็ต้องรักษามารยาทในการอยู่ร่วมกันเช่นกัน ปัญหาเล็ก ๆ ก็อาจทำให้เพื่อนบ้านที่เคยสนิทชิดชอบกันไม่พอใจกันขึ้นมาได้ เช่น การหยิบยืมข้าวของของเพื่อนบ้านมากจนเกินความจำเป็น, การเปิดเพลงเสียงดัง, การแสดงกิริยาอาการกักขฬะ, การพูดคุยเสียงดังหรือใช้วาจาไม่สุภาพ ตลอดจนการไม่รักษามารยาทอื่น ๆ เช่น การติฉินนินทาเพื่อนบ้านคนอื่นเป็นที่สนุกปาก การหยิบยืมเงินทอง ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น