แกร๊ก แกร๊ก แกร๊ก ปั้ก! เสียงกดแป้นคีย์บอร์ดของพนักงานออฟฟิศดังขึ้นตลอดทั้งวัน นิ้วระรัวอยู่กับการพิมพ์งานตรงหน้าอย่างเอาจริงเอาจัง บวกกับท่านั่งที่แทบจะไม่ขยับ แถมหลังเลิกงานยังพอมีเวลาก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์มือถือตัวกลมมนสีดำราคาแพง เพื่ออัพเดตสถานะของตัวเองกับเพื่อนๆ ได้อีก ขยันใช้นิ้วแบบนี้ ระวังอาการ ‘นิ้วล็อก' จะตามมาอัพเดตกันถึงที่นะจ๊ะ แถมบางคนยังนั่งอยู่ในท่าพิฆาต ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าเสื่อมตามมาอีก โอ๊ย! ไม่ได้การแล้วตามไปหาสาเหตุ พร้อมวิธีการป้องกันและรักษากันดีกว่าค่ะ
อาการของนิ้วล็อก
นิ้วล็อกก็คล้ายกับล็อกกุญแจที่เสื่อม คือเกิดจากการใช้งานนานจนเสื่อม ฝืด เกิดอาการอักเสบบวมจนไปกดรัดที่เอ็นนิ้วทำให้ขยับลำบาก นิ้วยึดตึงอยู่ในท่าคล้ายเหนี่ยวไกปืนประมาณเหมือนคนที่เกร็งนิ้ว จนนิ้วมืองอเข้าหากันทั้ง 5 นิ้วหรือ มือหงิก นั่นเอง ซึ่งอาจเกิดได้กับคนที่นิ้วล็อกบ่อยๆ อาทินักคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้นิ้วในการพิมพ์ แม่บ้านหิ้วถุงพลาสติกนักกีฬา เป็นต้น
อาการของโรคปวดเข่า เข่าเสื่อม
สาเหตุที่ทำให้ปวดเข่าก็คือ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป และนั่งในท่าพิฆาตทั้ง 4 เป็นเวลานาน คือ คุกเข่า พับเพียบ นั่งยองๆ และนั่งขัดสมาธิ หรืออาจจะเกิดจากการกระแทกของการเล่นกีฬาบางชนิด ยกของหนัก รวมทั้งหากเคยปวดเข่าหรือประสบอุบัติเหตุกับเข่ามาแล้ว จะทำให้เข่าเสื่อมเร็วกว่าเดิม
นิ้วล็อก
1. แช่นิ้วมือ ให้แช่มือทั้งมือในน้ำอุ่น ราว 10-15 นาที ทั้งเช้าและเย็น โดยแช่ให้ท่วมข้อมือ เพราะจะทำให้พังผืดอักเสบทั้งหลายสบายขึ้น แล้วก็จะค่อยๆ คลายตัวออกจากเอ็นและเส้นประสาท ไม่ให้ไปรัดอยู่อย่างนั้น นิ้วของเราก็จะค่อยๆหายปวดและดีขึ้น
2. กายบริหารสำหรับคนนิ้วล็อก
• ‘ยืด' ไม่ให้ยึด คือเหยียดแขนข้างที่เป็นออกไป แล้วกระดกข้อมือขึ้นในท่ายกมือห้าม จากนั้นใช้มืออีกข้างช่วยจับปลายนิ้วทั้งหมดให้เหยียดค้างไว้ นับ 1 ถึง 10 แล้วปล่อย ท่านี้ต้องทำทุกวัน วันละ 10 ครั้ง
• ‘กำ-แบ' เวลาว่างๆ ให้เหยียดแขนไปข้างหน้า แล้วกำมือเข้าแบมือออกไปเรื่อยๆ หรือจะใช้ลูกบอลเล็กๆ มาหมุนเล่นในฝ่ามือก็ได้ จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อในมือ
• ‘ยางยืด' แก้ฝืดมือ ให้หายางรัดของชนิดหนามาสวมปลายนิ้วไว้รวมกัน แล้วพยายามเหยียดนิ้วออกค้างไว้นับ 1 ถึง 10 ไปเรื่อยๆ เพราะว่า ‘ยาง' จะช่วยให้นิ้วได้ทำงานต้านแรงต่างๆ และช่วยให้กล้ามเนื้อมือไม่ลีบ
ปวดเข่า เข่าเสื่อม
การบริหารสำหรับอาการปวดเข่า เข่าเสื่อม
สิ่งแรกที่ควรทำคือ ขอให้ลดน้ำหนักให้ได้สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมากๆ แค่นี้ก็ไม่ต้องผ่าตัดแล้ว รวมทั้งใช้วิธีการออกกำลังเข่า โดยนั่งเก้าอี้ ห้อยขา แล้วคอยยกขึ้นให้ขนานพื้นค้างไว้สัก 5 วินาทีง่ายๆ แค่นับ 1 ถึง 5 ในใจแล้วค่อยเอาลง ทำอย่างนี้ประมาณวันละ20 ยก แล้วจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มเป็น 40 ยกต่อวัน จะทำให้เนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น และสามารถช่วยพยุงเข่าไว้ได้
การรับประทานอาหาร
อาหารต้านการอักเสบ ลดอาการการเกิดนิ้วล็อก ได้แก่ ปลาทะเล และน้ำมันปลา เพราะช่วยลดอาการอักเสบได้เร็ว
อาหารเติมน้ำให้เข่า บรรเทาอาการปวดเข่า ได้แก่พวก คอลลาเจน เช่น ซุปไก่ น้ำต้มกระดูกอ่อน น้ำต้มปลา และสาหร่ายทะเล นอกจากนั้นยังมีผักเขียวจัด อย่าง บร็อคโคลี่ คะน้า ปวยเล้ง ผักบุ้ง วีทกราส เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้จะช่วยบำรุงน้ำเลี้ยงข้อเข่าได้ดีทีเดียว
อาหารเติมแคลเซียมให้ข้อเข่า ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย กะปิ และเต้าหู้ขาวแข็ง เพราะเต้าหู้ชนิดนี้จะมีธาตุบำรุงกระดูกเจืออยู่มาก
ข้อควรระวัง : อาหารที่ควรเลี่ยงยามปวดเข่า
1. ผักผลไม้ที่มีกรดไฟติกมาก เช่น ถั่วงอกดิบ ชะพลู ผักหวาน ตั้งโอ๋ เพราะผักเหล่านี้จะไปแย่งจับแคลเซียม แต่หากอยากกินแล้วล่ะก็ไม่ยากเลย เพียงนำไปต้มหรือผัดให้สุกเสียก่อน เท่านี้ก็จะทำให้ไม่เป็นตัวร้ายกาจสำหรับเข่าเราแล้ว
2. เครื่องดื่ม ชา กาแฟ และบุหรี่ เพราะมีฤทธิ์เพิ่มการอักเสบภายใน และในขณะเดียวกันคนที่มีอาการนิ้วล็อก หากว่าหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ก็ดีนะจ๊ะ
3. อาหารหวานจัด และมันสุดๆ เช่น ขนมเค้ก เบเกอรี่ คุกกี้ เนย มาการีน และของทอดของมันต่างๆ
สิ่งสำคัญเลยก็คือ ในช่วงที่มีอาการควรพักการใช้นิ้ว หัวเข่า และอย่าสะบัดข้อมือบ่อย ลองเปลี่ยนท่านั่งและยืดเส้นยืดสายบ้าง นอกจากจะไม่เกิดอาการนิ้วล็อกหรือปวดเข่าแล้ว ส่วนต่างๆ ของร่างกายยังได้รับการพักผ่อน และจะไม่ส่งผลกระทบ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมา เพราะบางอย่างเราเองมักหลงลืม โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา และร่างกายของเราจนกว่ามันจะฟ้องร้องว่า "เจ็บแล้วนะ!" "เหนื่อยแล้วนะ!" ด้วยอาการต่างๆ เพราะฉะนั้น เริ่มตั้งแต่วันนี้ ดูแลร่างกายตัวเองกันหน่อย อย่าปล่อยให้โรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่นๆ มาทักทายตั้งแต่หนุ่มๆ สาวๆ เลยนะคะ
Meeting Party ทุกศุกร์แรกของเดือน ณ iOffice หน้ากองบิน 41 เชียงใหม่
วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
อาการของนิ้วล็อก อาการของโรคปวดเข่า เข่าเสื่อม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น