| นายประกอบ แก้วมา อายุ 40 ปี ผู้พิการขาขาด ที่ผันตัวมาเป็นช่างทำขาเทียม |
| | เป็นเวลากว่า 17 ปี ที่มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้บริการทำขาเทียมแก่ผู้พิการขาขาดที่ยากไร้ ด้อยโอกาสโดยไม่คิดมูลค่า และไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา จนในปัจจุบัน มูลนิธิขาเทียมฯ ก็ยังคงมุ่งมั่นตามรอยพระปณิธาน ในการให้เผยแพร่ความรู้ เทคนิค วิธีการทำขาเทียมของมูลนิธิให้ช่างกายอุปกรณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ในโครงการฝึกอบรมการทำขาเทียม เพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสใช้ขาเทียมที่ดีและเหมาะสม ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2551 เล่าถึงโครงการฝึกอบรมการทำขาเทียม ว่า ขณะนี้มีหลายประเทศให้ความสนใจมาดูงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลนิธิขาเทียมฯ จะช่วยจัดการอบรมให้โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในเรื่องของที่พัก เมื่ออบรมจบหลักสูตรจนสามารถทำขาเทียมได้ จะมีการสนับสนุนให้ตั้งโรงงานผลิตขาเทียมขึ้นในประเทศ โดยจัดส่งอุปกรณ์ที่ไทยสามารถทำได้เอง ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงหลายเท่าตัว เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ บอกอีกว่า ล่าสุด ได้ให้การอบรมถ่ายทอดเทคนิคการทำขาเทียมให้กับอาสาสมัครจากประเทศบุรุนดี ประเทศหนึ่งในแถบแอฟริกา ซึ่งอาสาสมัครที่มาเรียนนี้ป็นทหารเก่า ที่เป็นผู้มีวินัย ตั้งใจ อดทน ซึ่งในบุรุนดี” มีการสู้รบกันมาโดยตลอด ทำให้มีผู้พิการสูญเสียขาเป็นจำนวนมาก
|
| ด.ต.ถวัลย์ อาทิตย์ วัย 57 ปี ช่างทำขาเทียม โชว์ขาเทียมที่ยังไม่ตกแต่ง |
| | อีกทั้งเป็นประเทศยากจน และไม่มีหน่วยงานใดกล้าเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการชักชวนจาก “ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์” เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2552 ซึ่งได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยารักษาโรคต่างๆ ให้แก่ประเทศในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตะวันตก เพื่อการเข้าถึงยาและสามารถพึ่งพาตนเองได้ การทำขาเทียมก็เป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ ช่วยให้มีขาเทียมที่ดีไว้ใช้เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ “เชื่อว่า จากที่มีการอบรมไปแล้ว สามารถทำขาเทียมได้ไม่ใช่เรื่องยาก และลงทุนไม่มาก เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่แพง สามารถผลิตได้ในประเทศไทยและส่งให้กับประเทศเหล่านี้ได้ อีกทั้งวัสดุที่ใช้ก็สามารถรีไซเคิล หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ทราย อลูมิเนียม เป็นต้น ดังนั้น การที่จะมีโรงงานเล็กๆ เพื่อผลิตขาเทียมในประเทศยากจนคงไม่ใช่ความฝัน” สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น เป็นการช่วยเหลือผ่านทางรัฐบาล โดยกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1 แสนบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการถ่ายทอดวิธีทำขาเทียมให้กับอาสาสมัครจากประเทศอินโดนีเซียและได้ออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ไปทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการขาขาด ที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย “เทคนิคที่ถ่ายทอดนี้เป็นเทคนิคใหม่ขณะที่หลายประเทศยังใช้เทคนิควิธีการเดิมอยู่ โดยเป็นการทำเบ้าจากหุ่นทราย ลักษณะขาเทียมเหนือเข่าแบบใหม่ที่นำมาใช้ครั้งนี้ คล้ายกับขาเทียมเหนือเข่าของต่างประเทศ ที่ไม่ต้องใช้ฟองน้ำหุ้ม อีกทั้งแกนหน้าแข้งทำด้วยพลาสติกหุ้มแต่งเป็นรูปขาด้วยโฟมแข็งและเคลือบหุ้มด้วยวัสดุที่ทำให้ได้ขาเทียมที่ทำได้รวดเร็วมีน้ำหนักเบาที่สำคัญขาเทียมที่มูลนิธิผลิตขึ้นถือว่ามีราคาถูกเมื่อเทียบกับประเทศ มาเลเซีย อย่างขาเทียมชนิดเหนือหัวเข่าจะราคา 2 แสนกว่าบาท ส่วนที่ไทยทำได้จะราคาเพียง 2 หมื่น ซึ่งถูกกว่า ประมาณนับ 10 เท่า”
|
| รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2551 ขณะกำลังบรรยายให้กับผู้สนใจ | | | รศ.นพ.เทอดชัย บอกอีกว่า จากสถิติมีผู้พิการขาขาดในประเทศไทยประมาณ 6 หมื่นราย และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุการพิการขาขาดมาจากอุบัติเหตุ มอเตอร์ไซด์มากที่สุด รองลงมาคือโรคเบาหวาน ซึ่งประเทศต่างๆ มีสาเหตุที่ต่างๆ กันไป อย่างในมาเลเซีย ก็พบว่า 80% ถูกตัดขาเพราะเบาหวาน ในสหรัฐอเมริกาเป็นเพราะเส้นเลือดอุดตัน ขณะที่หลายประเทศในแอฟริกา เขมร เนื่องมากจากสงคราม สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่ที่เริ่มให้บริการครั้งแรก ปี 2534 มีการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่รวมจำนวนขาที่ให้บริการ 20,632 ขา ปัจจุบันมีโรงงานผลิตขาเทียมของมูลนิธิ 60 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามการให้บริการยังไม่สามารถให้ได้อย่างทั่วถึง ประกอบ แก้วมา หนุ่มใหญ่วัย 40 ปี ผู้พิการขาขาด ที่ผันตัวมาเป็นช่างทำขาเทียม และกลายมาเป็นผู้ฝึกสอนการทำขาเทียม เล่าว่า เริ่มมาทำงานเป็นช่างทำขาเทียมเมื่อปี 2550 รู้สึกภูมิใจมาก ที่ได้เข้ามาทำงานที่มูลนิธิฯ ซึ่งรศ.นพ.เทอดชัย เป็นผู้ที่ชักชวนให้มาทำงานเป็นช่างขาเทียม จำได้ว่า อาจารย์ถามว่า อยากมีส่วนช่วยคนอื่นต่อไหม พอตอบตกลงอาจารย์ก็สอน ชี้แนะ โดยต้องเรียนภาคทฤษฎีและปฏิบัติใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน จากนั้นก็พัฒนาฝีมือเรื่อยมา สำหรับการฝึกสอนให้ชาวต่างชาตินั้น ประกอบ บอกว่า มีล่าม เพราะเขาพูดภาษาฝรั่งเศสแต่หนึ่งในนั้นมีคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็สามารถสื่อสารกันได้
|
| สาธิตการทำขาเทียมสำหรับผู้ที่ขาขาดตั้งแต่ช่วงสะโพก |
| | ประกอบ เล่าย้อนถึงสาเหตุที่ทำให้เขาต้องสูญเสียขา ว่า เมื่อประมาณ 13-14 ปีที่แล้ว จากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถปิกอัพ ทำให้ต้องสูญเสียขา 1 ข้าง จากที่เคยทำงานรับจ้างบ้าง เก็บของป่าบ้าง ก็ทำไม่ได้ หลังจากได้กำลังใจจากพ่อ แม่ เพื่อนร่วมงานทำให้ลุกกลับขึ้นมาสู้ และไปรับบริการทำขาเทียมที่โรงพยาบาล ช่วงนั้นกว่าจะได้ขาเทียมไว้ใช้ต้องใช้เวลานานมาก ประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งขณะนั้นเราก็ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงช้า จนกระทั่งกลายมาเป็นช่างทำขาเทียมจึงทราบขั้นตอนกระบวนการว่า ขาเทียมไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ง่ายๆ “หากอยู่ต่างจังหวัดจะลำบากมาก เพราะหมอจะนัดมาทำขาหลายครั้ง เช่น นัดให้มาทำเบ้า สัปดาห์ถัดไปนัดให้มาโรงพยาบาลก็ต้องมาอีก จากนั้นต้องหัดเดินว่าพอดีหรือไม่ เวลาเดินเจ็บหรือเปล่า หากพอดีแล้วจึงมาขึ้นรูปทำขาแบบสวยงาม ดังนั้น พอมีผู้พิการมารับบริการมาถามว่าจะได้เมื่อไหร่ เราก็อธิบายให้ฟังว่า ไม่ต้องกังวล และบอกเขาอย่างใจเย็น เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนี้”
|
| ช่างทำขาเทียมช่วยฝึกอบรมชาวบูรุนดีให้ทำขาเทียม ก่อนนำความรู้กลับไปตั้งโรงงานในประเทศได้เอง |
| | ประกอบ บอกด้วยท่าทางอารมณ์ดีต่อว่า ปัจจุบันการมารับบริการที่มูลนิธิขาเทียมฯ จ.เชียงใหม่ หากเป็นผู้พิการขาขาดใต้หัวเข่า ที่นี่ใช้เวลาทำเพียงวันเดียวก็เสร็จและรอรับได้เลย และหากขาขาดเหนือเข่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน เมื่อทำเสร็จแล้วในรายที่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เองก็จะพาไปส่งถึงบ้าน สำหรับที่มูลนิธิซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ มีช่างทำขาเทียม ประมาณ 12 คน ซึ่ง ด.ต.ถวัลย์ อาทิตย์ ชาวเชียงใหม่ วัย 57 ปี ก็เป็นช่างทำขาเทียมอีกคนหนึ่งที่ทำงานที่มูลนิธิมากว่า 3 ปีแล้ว ด.ต. ถวัลย์ เล่าว่า สูญเสียขาข้างซ้ายช่วงเหนือหัวเข่า เมื่อปี 2518 เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด.หลังจากพิการก็มาทำงานด้านธุรการ และขอเกษีรณก่อนอายุราชการก่อนกำหนด เมื่ออยู่บ้านเฉยๆ ก็เบื่อ คิดว่า ปั้นปลายชีวิตที่หากอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งๆ ที่ตัวเองยังทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นที่สำคัญได้กุศล และผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรายังมี หลังจากเป็นอาสาสมัครช่วยงานสักระยะก็ตัดสินใจมาอบรมเป็นช่างทำขาเทียม “ที่นี่ทำทำขาเทียมเต็มที่ได้วันละ 12 ขา แต่เคยมีผู้มาต่อคิวทำมากที่สุด 17 ขา แต่เฉลี่ยน่าจะวันละ 4-5 ขา ซึ่งที่เชียงใหม่ จะมีผู้คนมาจากทั่วสารทิศ ทุกภาคของประเทศไทย เพราะที่นี่ได้ขาเร็ว ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนในโรงพยาบาล และไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย” |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น