สำหรับมือใหม่ทวิตเตอร์อาจจะไม่ทราบว่าใครกันที่เราควรจะไปติดตามข้อความทวีตจากเขา เราแนะนำให้ไปหาที่ twellow ที่ถือเป็นสมุดหน้าเหลืองของผู้ใช้ทวิตเตอร์ โดยแบ่งประเภทธุรกิจออกเป็นกว่า 20 ประเภทธุรกิจ ตั้งแต่ข่าว ศิลปะ ธุรกิจขนาดย่อม ไปจนถึงเทคโนโลยีชีวภาพ ขั้นแรกควรสมัครสมาชิกเพื่อเข้าสู่ระบบของ ก่อน จากนั้นก็เลือกหมวดที่คุณสนใจ เลือกดูคนที่คุณสนใจ จากนั้นก็กดปุ่ม Follow ก็จะติดตามข่าวจากเขาได้ทันที ในทางกลับกันถ้าคุณต้องการให้ใครมาหาคุณเจอหลังจากที่สมัครสมาชิกแล้ว ก็สามารถเข้าไปกรอกรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวคุณได้ twitterholic.com ค้นหาคนดังในทวิตเตอร์ การวัดเรทติ้งความดังของเว็บไซต์ทวิตเตอร์ แตกต่างจากการวัดของเว็บไซต์ทั่วไป ที่จะนับจากจำนวนคนเข้าชม (Pageview) แต่ทวิตเตอร์จะนับจากจำนวนคนติดตาม (Followers) ดังนั้นอยากรู้ว่าใครดังที่สุดในทวิตเตอร์ต้องไปที่ twitterholic นอกจากจะทราบว่า 5 อันดับคนดังที่สุดในโลกทวิตเตอร์ได้แก่ 1. แอสตัน คุชเชอร์ (นักแสดงฮอลลีวู้ด) 2. เอลเลน (เจ้าแม่ทอล์กโชว์แนวตลกโปกฮา) 3. บริทนีย์ สเปียร์ (นักร้องเซ็กซี่) 4. สำนักข่าว CNN และ 5. ทีมงานทวิตเตอร์ นอกจากนี้คุณยังสามารถเช็กอันดับความดังของตัวคุณเองได้ด้วย โดยการกรอกชื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ของคุณลงไป ตรงช่อง Check out your Twitterholic Ranking! * ค้นหาข้อมูลในทวิตเตอร์ * จริงอยู่ที่เว็บทวิตเตอร์เองผู้ใช้สามารถค้นหามูลได้แบบเรียลไทม์อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่น่าสนใจในการเพิ่มศักยภาพการหาข้อมูลของทวิตเตอร์ให้มากขึ้นไปอีก ดังนี้ collecta ค้นหาทุกเว็บสื่อสังคม เป็นเว็บไซต์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้เรียบง่าย ดึงข้อมูลตลอดเวลา นอกจากจะค้นหาข้อมูลที่มีคนพูดถึงคีย์เวิร์ดนี้ในเว็บทวิตเตอร์แล้วยังค้นหาจากบล็อก (Wordpress, Blogger) ภาพ (Flickr,Twitpic) วิดีโอ (YouTube,Ustream) ฯลฯ ไปในตัวด้วย ข้อเสียคือยังไม่สามารถใช้คำค้นหาที่เป็นภาษาไทยได้ แต่สามารถแสดงผลการค้นหาเป็นภาษาไทยได้ geochirp ใคร พูดอะไร ที่น่าสนใจ และอยู่ใกล้ๆเรา (ตัวอย่างในภาพคือ การค้นหาคำว่า Abhisit จากตำแหน่งรัฐสภา) ใช้สำหรับค้นหาเรื่องที่น่าสนใจ จากใครก็ตามที่อยู่ในโลกแห่งทวิตเตอร์แบบเรียลไทม์ เพียงแค่เรากรอกตำแหน่งของสถานที่ที่ต้องการลงไปบนแผนที่ จากนั้นก็พิมพ์คำค้นหาที่ต้องการลงไปที่ด้านล่าง ก็จะพบว่าใครบ้างที่กำลังพูดถึงคำๆ นี้ และสามารถปรับผลการค้นหาได้ว่าคนที่พูดคำนี้ คนไหนบ้างที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่เราระบุไว้มากที่สุด (ปรับได้ตั้งแต่ 1-50 ไมล์) เหมาะสำหรับการใช้งานในการแจกบัตรคอนเสิร์ต หรือโปรโมชันร้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้หาผลการค้นหาเป็นภาษาอื่นๆ ที่เราไม่รู้จัก เราสามารถกดปุ่ม translate ที่อยู่ด้านข้างของแต่ละข้อความได้อีกด้วย โดยจะแปลภาษาอื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด picfog ค้นหารูปของใครๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม (ตัวอย่างในภาพคือ การค้นหาภาพทั้งหมดจากผู้ใช้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร) เพียงพิมพ์คำค้นหาลงไป ก็จะพบข้อมูลที่เป็นภาพจากที่สมาชิกทวิตเตอร์ทุกคนอัปขึ้นมา โดยสามารถเลือกดูได้จากชื่อผู้โพสต์ (@user) และจากตำแหน่งที่เราต้องการ (Near) เลือกจากระยะได้ (ใกล้สุด 10 กิโลเมตร) ติดตามข้อมูลบนทวิตเตอร์ เพราะข้อมูลที่ทวิตเตอร์พรั่งพรูเข้ามานับล้านๆ ข้อความในแต่ละวินาที ดังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถอ่านข้อมูลได้ทั้งหมด ฉะนั้นจึงต้องใช้เครื่องมือที่จะช่วยให้คุณติดตามเฉพาะหัวข้อที่ตนสนใจได้แบบเรียลไทม์ tweettabs มอนิเตอร์ความเป็นไปของโลก (ลองค้นหาคำว่า "Michael Jackson" ดูก็จะพบว่าหน้าเว็บส่วนนี้จะเคลื่อนไหวอย่างเร็วมากนั่นก็เพราะไมเคิล แจ็คสัน ยังอยู่ในใจของคนทั้งโลกนั่นเอง) เว็บไซต์ที่มีหน้าตาเรียบๆ ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระดานดำสำหรับการติดตามข้อมูลในโลกแห่งทวิตเตอร์ เพียงแค่คุณพิมพ์คำคีย์เวิร์ดใดๆลงไป (ใช้ได้ทั้งคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) มันก็จะติดตามเฉพาะข้อความที่พูดถึงคำนี้และแสดงผลให้คุณดูแบบเรียลไทม์ ถ้าคำๆไหนมีคนพูดถึงมากก็จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการค้นหา 4 คำจะมีการแสดงผลพอดีกับหน้าจอขนาด 1028 x 768 พิกเซล แต่ถ้าคุณค้นหาคำมากกว่านี้ ก็ต้องคลิกที่ scrollbar ด้านล่าง (แนวนอนของจอ) เพื่อตรวจดูทั้งหมด นอกจากนี้คุณยังส่งผลการค้นหาที่อยู่ในรูปแบบที่อยู่เว็บสั้นๆ ให้กับเพื่อนทาง MSN หรือ SMS โดยกดปุ่ม Share ด้านข้างโลโก้ twittervision และ twittearth.com รู้ทุกทวีตทั่วโลก แค่เปิดหน้าเว็บไซต์นี้ค้างเอาไว้คุณก็จะเห็นได้ว่าคนทั้งโลกที่คลั่งไคล้ทวิตเตอร์เขาทวีตข้อความจากมุมไหนของโลกบ้าง โดยพิกัดตำแหน่งนี้จะดึงข้อมูลจากสถานที่ที่ผู้ใช้กรอกในประวัติส่วนตัว และข้อความที่ผู้ใช้ส่งมาจากมือถือที่มีการเชื่อมต่อกับฟีเจอร์ GPS อย่างไรก็ดีสำหรับ twittearth ถ้าเน็ตไม่แรงอาจจะต้องรอโหลดนานหน่อยเพราะใช้ภาพกราฟิกแบบ 3 มิติ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบล็อกกับทวิตเตอร์ หากคุณได้ดูวิดีโอใน "สนุกกับทวิตเตอร์ตอนที่ 1" ก็จะทราบว่าทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะการใช้งานที่อยู่ระหว่างบล็อกและอีเมล เพราะมันคือเครื่องมือที่จะทำให้คุณสามารถมีพื้นที่พูดถึงเรื่องใดๆ ก็ได้ที่คุณต้องการ และเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องรอการตอบกลับจากผู้รับฟังข่าวจากคุณ จึงอาจเรียกได้ว่าทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณโปรโมตตัวตน และผลงานของคุณอย่างได้ผลชะงัด ดังนั้น จึงมีเทคนิคที่จะช่วยเพิ่มยอดผู้อ่านบล็อกของคุณได้ โดยการเชื่อมโยงบล็อกนั้นเข้ากับทวิตเตอร์เสียเลย โดยเมื่อใดก็ตามที่คุณเสร็จสิ้นจากโพสต์ข้อมูลอันยาวเหยีดลงในบล็อกแล้ว ก็จะมีการดึงเฉพาะหัวข้อและลิงก์ของเรื่องนั้นมาอัปเดตที่หน้าทวิตเตอร์ของคุณโดยทันที เพื่อให้คนนับล้านบนโลกได้ทราบด้วยว่ามีเนื้อหาน่าอ่านอยู่ที่นี่ เมื่อคลิกที่ลิงก์ก็จะกลับมายังเนื้อหาบล็อกของคุณ twitterfeed เขียนบล็อกเสร็จก็แจ้งให้คนทั้งโลกรู้ผ่านทวิตเตอร์ เว็บไซต์นี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงและอัปเดตเรื่องใหม่ๆ จากบล็อกของคุณไปยังหน้าเว็บทวิตเตอร์ วิธีการใช้งานก็แสนง่าย เพียงสมัครสมาชิก จากนั้นเลือกเมนู create new feed > คลิกปุ่ม Connect your feed with your twitter account > กรอกชื่อบัญชีทวิตเตอร์ลงไปแล้วกดปุ่ม Allow > จากนั้นก็ใส่ลิงก์ RSS Feed ของบล็อกคุณลงไป > ตรง Advance Settings คุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้ twitterfeed ไปดึงข้อมูลล่าสุดจากบล็อกคุณมาโพสต์ที่หน้าเว็บทวิตเตอร์บ่อยแค่ไหน? เลือกได้ตั้งแต่ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง-1วัน และในแต่ละช่วงเวลานั้นโพสต์ได้สูงสุดกี่ข้อ (1-5 ข้อความ) เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วกดปุ่ม Create Feed รอสักพัก หากคุณโพสต์ข้อความใหม่ใดๆ ที่บล็อกของคุณ ก็จะมีการดึงข้อมูลมาแสดงไว้ที่หน้าเพจทวิตเตอร์เช่นกัน ดูได้จากบัญชีทวิตเตอร์ทั้งหมดของ ASTVผู้จัดการ เราได้ใช้บริการของ twitterfeed เช่นกัน นอกจากนี้แล้วบริการ mobile blogging ของไทยอย่าง PG ที่คุณสามารถโพสต์รูปจากมือถือขึ้นเว็บได้ทันที ก็มีบริการเสริมนี้ด้วยเช่นกัน โดยทุกรูปที่คุณถ่ายขึ้นมาล่าสุดที่ PG จะมีลิงก์ไปโพสต์ขึ้นที่หน้าเว็บทวิตเตอร์ด้วย วิธีการเชื่อมโยงข้อมูลก็เพียงแต่เข้าไปที่เว็บ PG และคลิกที่เมนู Setting > เชื่อมต่อกับเว็บอื่น > กดปุ่ม "เพิ่ม" > เลือกเว็บ twitter > กรอกบัญชีของทวิตเตอร์ > กดปุ่มเพิ่ม > เสร็จเรียบร้อย ตัวอย่างการแสดงผลของการอัปเดตภาพล่าสุดจาก PG เข้าไปที่หน้าเว็บทวิตเตอร์ได้จากคุณ กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันของประเทศไทย ที่ท่านใช้มือถือถ่ายรูปเหตุการณ์สำคัญๆ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ประชาชนได้รับทราบข่าวแบบทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวท่านได้ทันที ใช้ทวิตเตอร์บนมือถือ โปรแกรมทั้งหมดนี่นำมาแนะนำนี้เป็นโปรแกรมที่ฟรี แต่ผู้ที่ใช้งานจะเสียเฉพาะค่าต่อเน็ตบนมือถือผ่านเครือข่าย GPRS/EDGE/Wi-Fi ระหว่างเข้าอ่าน/ทวีตเนื้อหาบนทวิตเตอร์ ก่อนอื่นๆ ต้องเรียนว่า โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่เล่นเน็ตได้สามารถเข้าใช้งานทวิตเตอร์ผ่าน WAP ได้ที่ http://m.twitter.com แต่หลายคนก็ชื่นชอบที่จะใช้งานผ่านโปรแกรมเฉพาะของทวิตเตอร์มากกว่า เพราะมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ดังนั้นจึงขอแนะนำแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมเล่นทวิตเตอร์สำหรับมือถือแต่ละรุ่นดังต่อไปนี้ tiny twitter คือแอปฯขนาดเล็ก ที่สามารถใช้งานได้กับมือถือทุกรุ่นที่รองรับจาวา เช่น โนเกีย ซีรีย์ 40 ดาวน์โหลดลงมือถือได้ที่นี่ http://tinyurl.com/tinyjad (พิมพ์จากมือถือได้เลย) UberTwitter สำหรับผู้ใช้แบล็กเบอร์รี่ สามารถหาอ่านฟีเจอร์และดาวน์โหลดได้ที่นี่ TwitterFon สำหรับผู้ใช้มือถือไอโฟน สามารถอัปโหลดวิดีโอขึ้นทวิตเตอร์ได้ สามารถพรีวิวเว็บไซต์ของแต่ละลิงก์ในทวิตเตอร์ได้ (เฉพาะที่ใช้ tinyurl) และสามารถบันทึกผลการค้นหาข้อมูลได้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ ceTwit สำหรับผู้ใช้มือถือวินโดว์ โมบาย ตัวโปรแกรมสามารถสั่งการให้รีเฟรชหน้าจออัตโนมัติทำให้รับทราบข้อมูลทวีตใหม่ๆ ได้แบบเรียลไทม์ เชื่อมต่อการทำงานกับ Twitpic ได้ มีเสียงหรือสั่นเตือนเมื่อมีคนส่งข้อความมาหา ฯลฯ ดาวน์โหลดได้ที่นี่ Twidroid สำหรับผู้ใช้มือถือแอนดรอยด์ โพสต์ข้อความพร้อมพิกัดตำแหน่งที่อยู่ได้ มีการแจ้งเตือนเมื่อมีข้อความใหม่ที่หน้าจอ ใช้งานโปรแกรมได้ทั้งจอแบบแนวตั้งและแนวนอน หาโหลดได้จาก android market ที่นี่ ขอให้คุณสนุกกับทวิตเตอร์ในทุกๆ วัน :) ขอขอบคุณ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 4 กันยายน 2552 14:57 น. | http://www.manager.co.th/CBizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9520000101262 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น